ปาฏิโมกขสังวรศีล
หนังสือปาฏิโมกขสังวรศีล
รู้จักพระวินัย รู้จักพระ รู้จักอลัชชี
พระวินัย ๒๒๗ สิกขาบทของภิกษุเปรียบเสมือนรั้วลวดหนามอันแหลมคมสองข้างทาง ที่คอยประกบขนาบภิกษุไว้ เพื่อกันไม่ให้ภิกษุเดินออกนอกลู่นอกทาง ทั้งยังเป็นเครื่องป้องกันภัยที่มาจากภายนอกหนทางด้วย ซึ่งรั้วพระวินัยนี้จะมีปรากฎเฉพาะตนขึ้นมาพร้อมกับความเป็นภิกษุของแต่ละรูปแต่ละบุคคล อันเป็นเหตุให้ภิกษุทุกรูปทุกนามต้องสังวรระมัดระวังไปจนกว่าตนเองจะลาสิกขาหรือมรณภาพลง หากเมื่อใด ภิกษุพลังพลาดเดินชนรั้วพระวินัยจนบาดเจ็บคือประพฤติผิดศีล หรือถึงกับต้องออกนอกรั้วนอกทางจากความเป็นภิกษุไป เช่นนี้ ภิกษุจะกล่าวอ้างแก้ตัวเอาว่า มองไม่เห็นรั้วพระวินัยหรือไม่เข้าใจในพระวินัยไม่ได้ จึงจำเป็นอยู่เอง ที่เหล่าภิกษุจะต้องศึกษาทำความเข้าใจในพระวินัยทั้ง ๒๒๗ สิกขาบทนี้ให้จงดี
ในปัจจุบัน หนังสือพระวินัยนอกจากพระไตรปิฎก ที่เหล่าภิกษุควรต้องศึกษาทำความเข้าใจเบื้องต้นกันก่อน มีด้วยกัน ๔ เล่ม คือหนังสือบุบพสิกขาวรรณา ซึ่งรจนาโดยพระอมราภิรักขิต (อมโร เกิด) และหนังสือวินัยมุข เล่ม ๑ ถึงเล่ม ๓ ซึ่งรจนาโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิญาณวโรรส หากแต่ข้าพเจ้าได้พบเห็นว่า เพื่อนภิกษุสหรรมิกทั้งผู้เก่าผู้ใหม่ในพระธรรมวินัยนี้ กลับให้ความสนใจกับหนังสือดังกล่าวน้อยลง อาจเป็นเพราะภาษาเขียนที่รจนาในหนังสือดังกล่าวเป็น ภาษาสมัยรัชกาลที่ ๔ – ๕ ไม่ใช่ภาษาร่วมสมัยกับผู้อ่าน จึงทำให้ผู้ใหม่ในพระศาสนาในยุคปัจจุบันทำความข้าใจได้ยาก จะต้องพยายามถาม พยายามอ่านทบทวนทำความเข้าใจมากกว่าปกติมาก และต้องอาศัยคำอธิบายจากครูบาอาจารย์หรือผู้รู้เพิ่มเติม จึงจะรู้ตามได้
ข้าพเจ้าได้ตั้งใจเรียบเรียงรวบรวมเนื้อหาของพระวินัยที่คิดว่าภิกษุทั้งหลายจำต้องรู้ จำต้องเข้าใจ มาจากหนังสือบุบพสิกขาวรรณนาและจากหนังสือวินัยมุขป็นสำคัญ ทั้งเพิ่มส่วนที่เป็นนิทานต้นบัญญัติหรือที่มาของบัญญัติจากพระไตรปิฎกเข้าให้สมบูรณ์ขึ้น เพื่อหวังให้ภิกษุในยุคแห่งเราได้เข้าใจกรอบของพระวินัยให้กระจ่างชัด อันจะเป็นประโยชไม่ให้ใจ เกิดความเศร้าหมองวิตกในการปฏิบัติของตน โดยผ่านการปรับแต่งภาษาเขียนใหม่ให้เป็นภาษาร่วมสมัย หากแต่ในบางส่วนก็ยังคงเค้าของภาษาเดิมอยู่ เพราะเข้าใจว่าผู้อ่านก็รู้ความหมายของคำนั้นทั้งยังคิดว่าคำนั้นก็ป็นภาษาร่วมสมัยนี้เช่นกัน ส่วนการเรียงลำดับเนื้อหา ได้ยึดตามโครงสร้างของหนังสือวินัยมุขเป็นสำคัญ
ผู้อ่านหลายท่านอาจคิดว่ากาลแห่งพุทธศาสนาผ่านเลยมาถึง พุทธศักราช ๒๕๕๕ นี้แล้ว จนทำใจยอมรับว่า การประพฤติปฏิบัติของภิกษุย่อมมีความผิดแผกแตกต่างกันบ้างตามยุคตามสมัย และอาจดูเหมือน จะไม่มีภิกษุผู้ประพฤติตามให้ถูกต้องตามเค้าเดิมที่มีอยู่ในตำรับตำราเสียแล้ว แต่ครูบาอาจารย์ในยุคปัจจุบัน ที่นำพาศิษยานุศิษย์ประพฤติปฏิบัติให้ถูกตามพระธรรมวินัยนี้ และที่ผู้อ่านสามารถนำมาเทียบเคียงกับ ข้อวัตรการปฏิบัติในตำราได้อย่างดียังมีอยู่อีกมากท่าน อีกทั้งทำให้ผู้รู้ ผู้พบเห็นเกิดศรัทธในข้อวัตรปฏิปทา และมั่นใจต่ออายุกาลของพระพุทธศาสนาว่าจะดำเนินไปตามพุทธทำนายได้ เสาหลักในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย อาทิ พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมปนโน, ๑๒ ส.ค. ๒๔๕๖ – ๓๐ ม.ค. ๒๕๕๔) แห่งวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี และเสาหลักในฝ่ายมหานิกาย อาทิ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทโท, ๑๗ มิ.ย. ๒๔๖๑ – ๑๖ ม.ค. ๒๕๓๕) แห่งวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งพร้อมที่จะให้ผู้ตั้งใจใฝ่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรมไปพิสูจน์ เรียนรู้ นำไปเป็นแง่คิดให้เกิดประโยชน์กับตนได้ตลอดเวลาจากครูบาอาจารย์ที่เป็นศิษย์ของแต่ละท่าน
ข้าพเจ้าจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ปาฏิโมกขสังวรศีล” เล่มนี้จะง่ายต่อการทำความเข้าใจในพระวินัยได้และเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ ต่ออุบาสกอุบาสิก ต่อผู้ที่จะอุปสมบท ต่อภิกษุสามเณร และอย่างที่สุด คือต่อพระพุทธศาสนาต่อไป หากความหมายของเนื้อหาใดที่เรียบเรียงมานี้ คลาดเคลื่อน หรือเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากจุดมุ่งหมายเดิมแห่งพระวินัย และพระไตรปิฎก ข้าพเจ้าไม่มีเจตนาล่วงเกินทำให้เกิดขึ้นแม้แต่น้อย จึงหวังผู้รู้ได้ตักเตือนโดยอาศัยความเมตตาธรรมด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง
บุญกุศลใดที่จะบังเกิดขึ้นจากการจัดทำหนังสือนี้ ข้าพเจ้าและผู้ร่วมจัดพิมพ์ทุกท่าน ขออุทิศถวายแด่พระรัตนตรัย พ่อแม่ ครูอาจารย์ ญาติพี่น้อง และผู้มีพระคุณทุกท่าน พร้อมสรรพสัตว์ในวัฏฎสงสารทั้งมวล อันเป็นไปเพื่อให้เรา ให้ทุกท่าน ให้ทุกสรรพสัตว์ทุกตัวตน ปฏิบัติตนดำเนินสู่ความพ้นทุกข์ด้วยเทอญ.
โดย ผู้รวบรวมและเรียบเรียง ก. นราธโร (พระอาจารย์บุญส่ง โกเมศนราธร)