ศีล ๘

อยู่ผ้าขาวที่วัดก่อนบวช

     ผู้สมัครบวชทุกท่านจำเป็นต้องเข้าวัดอยู่ผ้าขาว เป็นระยะเวลาขั้นต่ำ ๑ สัปดาห์ตามระยะเวลาโครงการที่ระบุไว้ โดยทั่วไปการบวชพระในสายวัดป่ากรรมฐาน การอยู่ผ้าขาวที่วัดก่อนบรรพชาอุปสมบทเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพื่อให้ผู้บวชได้เข้ามาศึกษาพระวินัย ข้อวัตรปฏิบัติของทางวัด รวมทั้งหัดซ้อมท่องคำขานนาค ซึ่งในวัดป่านั้น การอยู่ผ้าขาวด้วยระยะเวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปีก็มีให้เห็นโดยทั่วไป ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของครูบาอาจารย์ด้วยว่า ผ้าขาวนั้น พร้อมสำหรับการบวชเป็นพระภิกษุ ที่จะอยู่ในการปกครองของครูบาอาจารย์ในวัดแล้วหรือยัง

     การอยู่ผ้าขาวถือศีล ๘ เป็นการเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจก่อนบวช ปรับสภาพวิถีชีวิตที่จะต้องดำเนินตามพระธรรมวินัย และข้อวัตรปฏิบัติของทางวัด ฝึกการกินข้าวมื้อเดียว ฝึกการหลับนอน ฝึกความสำรวม ฝึกการสวดมนต์ไหว้พระ ฝึกการภาวนานั่งสมาธิเดินจงกรม ฝึกการนุ่งห่มผ้าไตรจีวร ฝึกการอุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์ ฝึกการล้างบาตร ฝึกการตีตาด(กวาดลานวัด) ฝึกการดำเนินชีวิตในความเป็นอยู่ที่ทวนกระแสกิเลสที่ไม่เหมือนฆราวาสวิสัย ที่แต่ก่อนเคยสะดวกสบายดำเนินชีวิตตามอำเภอใจจะกินนอนเที่ยวเล่นเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นับเป็นเรื่องที่ลำบากพอสมควรสำหรับผู้ที่ไม่เคยเข้าวัดปฏิบัติธรรมมาก่อน แต่ก็ไม่ยากเหนือวิสัย หากผู้นั้นมีความตั้งใจจริง

ศีล ๘ มีอะไรบ้าง?

ศีล ๘ หรือ อัฏฐศีล หรือ ศีลอุโบสถ คือ การรักษาระเบียบทางกายวาจา, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ยิ่งขึ้นไป เป็นข้อปฏิบัติเพื่อลดละการแสวงหาความสุขที่พึ่งพิงวัตถุภายนอก ไม่ให้กลายเป็นคนลุ่มหลงมัวเมาในวัตถุสิ่งของ และเอื้อต่อการปฏิบัติภาวนาแสวงหาความสงบภายในจิตใจ  ศีล ๘ ประกอบไปด้วย

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี คือ เว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป

๒. อทินฺนาทานา เวรมณี คือ เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย

๓. อพฺรหฺมจริยา เวรมณี คือ เว้นจากกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์, เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือร่วมประเวณี

๔. มุสาวาทา เวรมณี คือ เว้นจากการพูดเท็จ

๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี คือ เว้นจากน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

๖. วิกาลโภชนา เวรมณี คือ เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงแล้วไป จนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่

๗. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนมาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี คือ เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง

๘. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี คือ เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่หรูหราฟุ่มเฟือย

อานิสงส์ของการรักษาศีล ๘

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัส อุปมาถึงอานิสงส์ ของการรักษาอุโบสถศีลไว้ว่า ถ้าจะนำมาเปรียบกับสมบัติของพระราชา ที่แม้จะครองความเป็นใหญ่ถึง ๑๖ แคว้น ก็ยังไม่ถึงเสี้ยวของผลบุญอันเกิดจากการรักษาอุโบสถเลย เพราะสมบัติมนุษย์เป็นสมบัติหยาบเหมือนสมบัติของคนกำพร้า มีความสุขได้ไม่กี่ร้อยปีก็ต้องพลัดพรากซึ่งเทียบไม่ได้กับการได้เสวยทิพยสมบัติอันยาวนานในสวรรค์ที่เกิดจากอานิสงส์ของการรักษาอุโบสถ การรักษาอุโบสถศีลนี้ แม้ว่าจะมีโอกาสรักษาได้ไม่นาน แต่กลับสามารถส่งผลให้มีอานิสงส์มากมายเกินควรเกินคาดได้

 

ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลจะได้รับอานิสงส์มากมายเกินควรเกินคาด อย่างน้อยๆ ก็สามารถแบ่งออกเป็น ๕ ข้อ คือ

๑.ย่อมได้รับโภคทรัพย์ใหญ่ เพราะความไม่ประมาทเป็นเหตุ

๒.เกียรติศัพท์อันงามของผู้มีศีล ย่อมฟุ้งขจรไปไกล

๓. ผู้มีศีลเข้าไปสู่สมาคมใดๆ ย่อมเข้าไปอย่างองอาจไม่เก้อเขิน

๔. ผู้มีศีลย่อมไม่หลงทำกาละ คือ ไม่หลงเผลอสติในเวลาตาย

๕. ผู้มีศีล ตายแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทพ

 

     นอกจากนี้ ศีล ยังเป็นบาทเบื้องต้นแห่งสมาธิ ทำให้ใกล้ต่อมรรคผลนิพพาน ดังนั้นคนที่ตั้งใจรักษาศีลได้บริสุทธิ์ก็จะมีผลต่อการนั่งสมาธิไปด้วย ดังนั้น พุทธศาสนิกชนที่ดีก็ควรที่จะตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ทั้งยังต้องเป็นกัลยาณมิตรชักชวนคนรอบข้างมาสั่งสมบุญใหญ่ ที่เกิดจากการรักษาอุโบสถศีล เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมชาวพุทธให้แข็งแรงยิ่งขึ้นไป บุคคลแม้จะงดงามด้วยเครื่องประดับอันมีค่า ก็ยังไม่งามเท่าผู้มีศีลเป็นอาภรณ์ ผู้มีศีลย่อมติเตียนตนเองไม่ได้ เมื่อพิจารณาถึงศีลที่บริสุทธิ์ ย่อมเกิดปีติทุกเมื่อ ศีลจึงเป็นรากฐานแห่งความดีทุกอย่างและกำจัดความชั่วทั้งปวง

 

อุโบสถศีล เป็นศีล สำหรับ

๑. ฆราวาสผู้ครองเรือน ซึ่งปรารถนาความสุขอันยอดเยี่ยมในกาลปัจจุบันและอนาคต

๒. ผู้สะสมบารมี เพื่อรู้ธรรมเห็นธรรมและบรรลุมรรคผลนิพพาน

 

ความมหัศจรรย์แห่งอุโบสถศีล

     นางเอกุโปสติกาภิกษุณี ออกบวชเมื่ออายุได้ ๗ ปี บวชแล้วไม่ทันถึงครึ่งเดือน นางก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ หมดสิ้นอาสวะกิเลส ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป .. หลายคนสงสัยว่า เหตุใดนางจึงได้บรรลุธรรมรวดเร็วอย่างนั้น นางจึงเล่าประวัติ การเวียนว่ายตายเกิดของนางว่า เมื่อ ๙๑ กัปป์ที่ผ่านมา มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกมาแล้ว ๗ พระองค์ คือ พระวิปัสสีพุทธเจ้า พระสิขีพุทธเจ้า พระกกุสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมโนพุทธเจ้า พระกัสสปะพุทธเจ้า และพระโคตมะพุทธเจ้า ของเราในสมัยนี้ในสมัยพระเจ้าวิปัสสีพุทธเจ้า นางเอกุโปสติกาภิกษุณี เกิดเป็นหญิงรับใช้ของพระเจ้าพันธุมมะ ผู้ครองนครพันธุมดี นางได้เห็นพระเจ้าพันธุมมะพร้อมด้วยอำมาตย์ ข้าราชบริพาร ทรงสละราชกิจมาสมาทานรักษาอุโบสถศีลในวันพระ นางคิดว่า อุโบสถศีลนี้ น่าจะเป็นของดีวิเศษ เจ้าฟ้ามหากษัตริย์จึงสนใจสมาทานรักษาเป็นประจำ นางคิดได้ดังนี้ จึงศึกษา และทำใจร่าเริงสมาทานรักษาอุโบสถศีลเป็นประจำทุกวันพระ ผลของการรักษาอุโบสถศีล ทำให้นางได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้น ดาวดึงส์ มีวิมานอันสวยงาม มีนางฟ้าแสนนางเป็นบริวาร มีผิวพรรณผุดผ่องดั่งทองคำ มีความงามยิ่งกว่านางฟ้าอื่นๆ ระหว่างที่นาง ยังท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ไม่ว่าจะเกิดในภพใดชาติใด นางจะเป็นผู้ประเสริฐในที่ทุกสถานทุกภพทุกชาติ ได้ที่อยู่อาศัยเป็นเรือนยอดปราสาทมณฑป ได้ดอกไม้เครื่องหอม เครื่องลูบไล้ ของกินของใช้ไม่เคยอดอยาก ภาชนะเครื่องใช้ทำด้วยเงินทองแก้วผลึกแก้วปทุมราช ผ้าไหมผ้าฝ้ายผ้าเปลือกไม้ล้วนแต่งามวิจิตรมีราคาสูง พาหนะ ช้าง ม้า รถ มีครบบริบูรณ์ทุกอย่าง เป็นผลบุญที่เกิดขึ้นจากการรักษาอุโบสถศีลในวันพระของนาง ตลอดเวลา ๙๑ กัปป์ นางมิได้ไปเกิดในทุคติภูมิเลย

 

     พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุโบสถศีลประกอบด้วยองค์แปดที่บุคคลสมาทานรักษาแล้วย่อมมีผลยิ่งใหญ่มีอานิสงส์มหาศาล มีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งนัก มีผลอานิสงส์แผ่ไพศาลมาก” อุโบสถศีล เลิศกว่าสมบัติพระเจ้าจักรพรรดิ์ บรรดาคนร่ำรวยที่สุดในโลก มหาเศรษฐีมีทรัพย์สินเงินทองมากมายมหาศาลเพียงใดก็ตาม ความร่ำรวยเหล่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับทรัพย์สมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ์แล้ว ย่อมเป็นของเล็กน้อย ทรัพย์สมบัติของเศรษฐีทุกคนในโลกรวมกันก็ไม่เท่าทรัพย์สมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ทรัพย์สมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ์ เมื่อเปรียบเทียบกับผลของการรักษาอุโบสถศีล ย่อมเป็นของเล็กน้อย คือไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของผลบุญที่เกิดจากการรักษาอุโบสถศีล เพราะ สมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ์เป็นสมบัติมนุษย์ เป็นสมบัติหยาบ เป็นความสุขหยาบ ใช้เวลาเสวยอย่างมากไม่เกินร้อยปี แต่ผลของอุโบสถศีล เป็นเหตุให้ได้สมบัติทิพย์ ความสุขก็เป็นทิพย์ด้วย การเสวยสมบัติทิพย์ กินเวลายาวนานเป็นกัปป์เป็นกัลป์ บางทีเป็นนิรันดร์(นิพพานสมบัติ)

 

     ดังนั้น ชาย หญิงทั้งหลาย ผู้ได้สมาทานรักษาอุโบสถศีลย่อมได้ชื่อว่า ทำความดีอันมีความสุข เป็นกำไร ไม่มีคนดีที่ไหนจะติเตียนได้ เมื่อสิ้นชีพไปแล้วย่อมเข้าถึงสวรรค์หกชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง

 

เกร็ดความรู้น้ำปานะ

     บทสิกขาบทศีลที่ว่า วิกาลโภชนา ได้แก่ การบริโภคอาหาร เมื่อล่วงเลยเวลาเที่ยงตรง, การบริโภคอาหารเมื่อล่วงเลยเวลาเที่ยง ก็คือการบริโภคอาหารเมื่อล่วงเลยกาลที่ทรงอนุญาตไว้ คือเจตนางดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

 

     วิกาลโภชน์มีองค์แห่งการเกิด ๔ ประการ (องค์ที่ทำให้เกิดองค์ศีลข้อวิกาลโภชนาต้องแตกทำลาย)

๑.วิกาโล เป็นเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงวันไปแล้ว

๒.ยาวกาลิกํ ของนั้นเป็นของเคี้ยวของฉันที่ทรงอนุญาตให้กินได้ก่อนเที่ยงวัน

๓.อชฺโฌหรณํ มีการกลืนล่วงลำคอคงไป

๔.อนุมฺมตฺตกตา ไม่ใช่คนบ้า

(ขุทฺทก.อ ๑/๓/๔๒, อง.อ. ๑/๓/๔๐๑)

 

     หลังจากเที่ยงวันไป นอกจากน้ำเปล่าบริสุทธิ์แล้ว ผู้รักษาอุโบสถสามารถกลืนน้ำปานะดับกระหายหรือบรรเทาความหิวได้

     น้ำปานะ ได้แก่ เครื่องดื่ม หรือ น้ำสำหรับดื่มที่คั้นจากผลไม้ ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่พระภิกษุให้รับประเคนแล้วสามารถเก็บไว้ฉันได้ตลอด ๑ วัน ๑ คืน ตั้งแต่เที่ยงถึงรุ่งอรุณวันใหม่ เรียกว่า ยามกาลิก ทรงอนุญาตไว้ ๘ อย่าง

๑.อัมพะปานะ น้ำมะม่วง

๒.ฃชัมพุปานะ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า

๓.โจจะปานะ น้ำกล้วยมีเมล็ด

๔.โมจะปานะ น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด

๕.มะธุกะปานะ น้ำมะทรางต้องเจือด้วยน้ำจึงควร

๖.มุททิกะปานะ น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น

๗.สาลุกะปานะ น้ำเหง้าบัว

๘.ผารุสะกะปานะ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่

     นอกจากน้ำปานะ ๘ อย่างแล้ว ท่านยังอนุญาตน้ำที่จะอนุโลมตามน้ำปานะไว้อีก เรียกว่า กัปปิยปานะ อนุโลม คือน้ำปานะที่สมควร ซึ่งฉันได้โดยไม่เป็นอาบัติในเวลาวิกาล ได้แก่ น้ำปานะแห่งผลไม้เล็ก เช่น ลูกหวาย มะขาม มะงั่ว มะขวิด สะคร้อ และเล็บเหยี่ยว เป็นต้น

 

     นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ฉันน้ำปานะเหล่านั้นผสมกับน้ำตาล แล้วเคี่ยวไฟจนเข้มข้น (ยกเว้นที่ทำจากถั่วและนม) สามารถฉันได้ จัดเป็น อัพโพหาริก เช่น น้ำอัดลมในสมัยนี้ แม้นน้ำผลไม้สำเร็จรูป เช่น น้ำองุ่นที่กรองเนื้อออกดีแล้วก็ดื่มได้

 

     น้ำที่ไม่ทรงอนุญาต ดื่มแล้วองค์อุโบสถต้องแตกทำลาย อกัปปิยปานะอนุโลม หรือ เครื่องดื่มที่ไม่พึงดื่ม คือ น้ำปานะที่ไม่สมควร ภิกษุดื่มในเวลาวิกาลไม่ได้ ถ้าดื่มต้องอาบัติปาจิตตีย์ ได้แก่

น้ำแห่งธัญชาติ (ข้าว) ๗ ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้ากับแก้

น้ำแห่งมหาผล (ผลไม้ใหญ่ ) ๙ ชนิด คือ ผลตาล มะพร้าว ขนุน สาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไท แตงโม และ ฟักทอง

น้ำแห่งอปรัณณชาติ ได้แก่ ถั่วชนิดต่าง ๆ มีถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ และงา เป็นต้น แม้นจะต้มจะกรอง ทำเป็นเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ก็ย่อมเป็นอาบัติปาจิตตีย์

นม ท่านจัดเป็นอาหารอันประณีต ภิกษุสามเณรไม่พึงฉันยามวิกาล แม้นจะผสมกับเครื่องดื่มต่างๆ ก็ไม่ควร หากฉัน ก็ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์

 

 

     ดังนั้น พึงสรุปได้ว่า ผู้หวังความบริสุทธิ์ของอุโบสถมีองค์ ๘ นั้น ก็ต้องพึงงดเว้นเครื่องดื่มที่ทรงห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายในยามวิกาลด้วย

 

 

น้ำปานะ