คู่มือบวชพระ
บวช
ความหมายของคำว่า “บวช” คำว่าบวชมาจากศัพท์ว่า ปะวะชะ แปลว่า งดเว้น ได้แก่ งดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น คือ เว้นจากกิจบ้านการเรือนมาบำเพ็ญเพียรทางกิจพระศาสนา มีสวดมนต์ ภาวนา เป็นต้น การบวชนั้น ถ้าเป็นสามเณร เรียก บรรพชา ถ้าเป็น พระภิกษุ เรียก อุปสมบท
ความเป็นมาของการบวช
บรรพชาหรือการบวชนั้น ตามความหมายทั่วไป มีมาแต่เดิมก่อนพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น คือในหมู่ประชาชนนั้น มีบุคคลบางคนที่รู้จักคิดพิจารณา มองเห็นชีวิตของหมู่มนุษย์ในสังคมมีความเป็นไปทั้งทางดีและทางร้าย บางครั้งสังคมก็มีความเสื่อม บางครั้งก็มีความเจริญ ผันผวนปรวนแปรไปต่าง ๆ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน หาสาระและความสุขแท้จริงไม่ได้ การมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคม นอกจากวุ่นวาย หาความสุขจากความสงบได้ยากแล้ว ก็มักไม่เปิดโอกาสแก่การที่จะแสวงหาความเข้าใจ และความรู้จริงเกี่ยวกับชีวิต จึงมีคนบางคนในหมู่ชนเหล่านั้นปลีกตัวออกจากสังคม แล้วออกไปอยู่ในที่ห่างไกลเพื่อจะได้มีความสุขสงบ และมีเวลาคิดค้นสิ่งต่าง ๆ ไม่ถูกรบกวนด้วยเรื่องวุ่นวายที่เกี่ยวกับคนอื่น ด้วยการปลีกตัวออกไปจากสังคมนั้น ก็จึงได้เกิดมีชีวิตแห่งการบวชขึ้นมา ผู้ที่ออกบวชเหล่านี้ก็ได้ไปอยู่ตามป่าตามเขา ในที่สงัดเช่นในถ้ำ แล้วก็หาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต ไปคิดค้นพิจารณา ตลอดจนหาความสงบของจิตใจ และได้มีความสุขจากสันติ อันเป็นความสงบที่ปราศจากเรื่องวุ่นวายทางโลก
การแสวงหาความหมายของชีวิต และชีวิตที่มีความหมายพร้อมกับหาความสงบของจิตใจอย่างนี้ได้มีมาเป็นพื้นฐาน จนกระทั่งถึงสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ประสูติ ตอนแรก เจ้าชายสิทธัตถะก็อยู่ท่ามกลางชีวิตในโลก โดยประทับอยู่ในวังและวุ่นวายอยู่กับเรื่องการหาความสุขจากวัตถุที่เรียกว่า กามสุข แต่ต่อมาก็ทรงเห็นว่า การที่จะอยู่ตาม ๆ กันไปกับผู้อื่น เกิดมาแล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บตายกันไป วนเวียนกันอยู่แค่นี้ โดยไม่รู้ไม่เข้าใจในความจริงของชีวิต ไม่ช่วยให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนความเป็นอิสระของจิตใจ ในที่สุดพระองค์ได้ทรงพิจารณาหาทางว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถเข้าถึงความจริงและความดีงามนั้นได้ การมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายในสังคมนั้น ไม่อำนวยโอกาส เพราะชีวิตการครองเรือนมีห่วง กังวลรุงรัง วุ่นวายผูกรัดตัวมาก อย่างที่ท่านกล่าวว่า สมพาโธ ฆราวาโส แปลว่า ชีวิตครองเรือนนี้คับแคบ ทรงเห็นว่า การออกบวชอย่างนักบวชที่มีในยุคพุทธกาลสืบต่อกันมาแต่สมัยโบราณนั้น เป็นทางออกที่ดี อพโภกาโส ปพฺฺพชฺชา การบรรพชานั้น เหมือนกับการออกมาสู่ที่โล่งแจ้ง ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ คล่องตัว ไปไหนไปได้ จึงตัดสินพระทัยสละชีวิตในวัง เสด็จออกผนวช เรียกว่าบรรพชา แล้วก็เสด็จไปแสวงหาความรู้ความเข้าใจจากสำนักต่าง ๆ และทรงประพฤติปฏิบัติตามแนวทางของพวกนักบวชเหล่านั้นทุกแบบ พระองค์ทรงไปทดลองตามแนวทางปฏิบัติของนักบวชสมัยนั้น ในที่สุดก็ทรงเห็นว่า ลัทธิของนักบวชเหล่านั้น รวมทั้งฤาษีดาบสต่าง ๆ ไม่เป็นทางที่จะให้บรรลุความรู้ความเข้าใจ เกิดปัญญาที่จะรู้แจ้งความจริงและทำชีวิตจิตใจให้เป็นอิสระหลุดพ้นได้จึงทรงแสวงหาหนทางของพระองค์เอง แล้วก็ได้ตรัสรู้ ในวันเพ็ญเดือน ๖ เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว ดังที่เราเรียกวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า “วันวิสาขบูชา”
เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ก็ได้นำธรรมะมาสั่งสอนเผยแพร่ต่อไป ผู้ที่เห็นด้วยและศรัทธา ในคำสอนของพระองค์ เข้าใจความจริงของชีวิต และเข้าใจหลักความดีต่าง ๆ ที่พัฒนาชีวิตให้ถึงความสุข ความเจริญงอกงามที่แท้จริง ก็ขอมาประพฤติปฏิบัติอยู่กับพระองค์โดยสละความเป็นอยู่ท่ามกลางบ้านเรือน เรียกว่าออกบวช เมื่อมีผู้มาขอบวชอยู่กันมากขึ้น มีนิสัยใจคอความประพฤติ ต่าง ๆ กัน บางคนก็ทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร พระพุทธเจ้าก็ทรงจัดตั้งวางระเบียบวินัยขึ้น ทำให้ชีวิตการบวชมีแบบแผนเฉพาะขึ้นมา
สำหรับพระพุทธศาสนา ตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าจัดวางไว้นั้น ในขั้นต้น ขอบวชเป็นสามเณรก่อน เรียกว่า บรรพชา ต่อมาเมื่อมีคุณสมบัติพร้อมแล้ว จะบวชให้สมบูรณ์ จึงเข้าที่ประชุมสงฆ์บวชเป็นพระภิกษุเรียกว่า อุปสมบท การบวชเป็นสามเณร ที่เรียกว่า บรรพชานั้น ไม่จำเป็นต้องมีสงฆ์ มีแต่พระอุปัชฌาย์องค์เดียวก็พอ แต่ถ้าจะบวชเป็นพระภิกษุคือจะอุปสมบท ต้องมีสงฆ์ประชุมพิจารณาให้มติความเห็นชอบร่วมกัน
ลักษณะของการบวช
การบวชจะมี ๒ ลักษณะ ได้แก่
๑. การบวชเป็นสามเณร เรียกว่า “บรรพชา”
๒. การบวชเป็นพระภิกษุ เรียกว่า “อุปสมบท”
ประเภทของการบวช
การบวชพระหรือการอุปสมบทในพุทธศาสนาแยกได้ ๓ ประเภท คือ
๑. เอหิภิกขุอุปสัมปทา การบวชประเภทนี้ เป็นวิธีการบวชที่พระพุทธเจ้าประทาน แก่กุลบุตรผู้ขอบวชด้วยพระองค์เอง เป็นการอนุญาตให้มาเป็นภิกษุโดยการตรัสด้วยพระวาจา แต่จะมีอยู่ ๒ แบบ คือ
๑.๑ หากบุคคลผู้ที่ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาขอบวช พระองค์ก็จะตรัสเรียกให้เข้าเป็นภิกษุว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิดธรรมเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” การตรัสพระวาจาเพียงแค่นี้ก็สำเร็จเป็นภิกษุในพุทธศาสนาแล้ว
๑.๒ เป็นวิธีการบวชที่พระพุทธเจ้าบวชให้แก่บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ สามารถกำจัดกิเลสได้แล้ว พระองค์จะตรัสพระวาจาว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” จะตัดข้อความตอนสุดท้ายออก คือ “ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” เพราะผู้ที่กำจัดกิเลสตัณหาได้แล้ว จะไม่มีความทุกข์โดยสิ้นเชิง
๒. ติสรณคมนูปสัมปทา คือ การอุปสมบทด้วยวิธีให้ผู้ขอบวชกล่าวคำรับเอาและเข้าถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่ง(สรณะ) เป็นที่ระลึก แต่การบวชแบบติสรณคมนูปสัมปทานี้ เดิมใช้บวชพระมาก่อน กล่าวคือ ตอนที่พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยออกประกาศศาสนา ได้เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ประทานการบวชแก่บุคคลผู้เลื่อมใสศรัทธา ขณะที่ประทับอยู่ในเขตเมืองพาราณสีนั้น มีจำนวนถึง ๖๐ รูป แล้วพระองค์ก็ทรงส่งพระสาวกเหล่านั้นออกประกาศศาสนาไปตามบ้านคามนิคมและราชธานี โดยส่งไปแห่งละรูป มิให้เดินทางไปแห่งเดียวกันสองรูป เมื่อมีผู้ศรัทธาจะขอบวชในพุทธศาสนา พระสาวกก็ไม่อาจจะบวชให้แก่ผู้เลื่อมใสเหล่านั้นได้ ต้องพาผู้มีศรัทธาเหล่านั้นเดินทางรอนแรม หนทางก็ทุรกันดาร พระพุทธเจ้าทรงเห็นความลำบากเหล่านี้ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุสามารถบวชด้วยวิธีติสรณคมนูปสัมปทานี้โดยไม่ต้องพาผู้ขอบวชเดินทางมาหาพระพุทธองค์อีกต่อไป
๓. ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา หมายถึง การบวชด้วยคำประกาศย้ำ ๓ ครั้ง รวมทั้งคำประกาศนำเป็นครั้งที่ ๔ เป็นวิธีอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์บวชให้แก่กุลบุตร โดยให้ผู้นั้นบวชเป็นสามเณรชั้นหนึ่งก่อน แล้วให้ขออุปสมบท จากนั้นพระกรรมวาจาจารย์สวนประกาศย้ำครั้งที่ ๑ ว่าสงฆ์จะรับผู้นั้นเป็นภิกษุหรือไม่ เมื่อสงฆ์ยังนิ่งอยู่ก็สวดประกาศย้ำอีก ๓ ครั้ง ถ้าไม่มีใครคัดค้านก็เป็นอันสำเร็จเป็นพระภิกษุ วิธีอุปสมบทแบบนี้ใช้มาตั้งแต่พุทธกาลตอนกลางมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อทรงอนุญาตญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทาแล้ว ก็ทรงเลิกเอหิภิกขุอุปสัมปทา และติสรณคมนูปสัมปทาเสีย
คุณสมบัติของผู้บวช
สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ถือว่ามีส่วนสำคัญในการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะมาอยู่ในสมณเพศ การหละหลวมในการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะมาบวชให้คนทั่วไปกราบไหว้นับถือ มีส่วนทำให้สถาบันศาสนาสั่นคลอน ดังจะเห็นได้จากสิ่งที่เคยเกิดขึ้น คนเคยต้องโทษจำคุกในคดีอาญามาบวชเป็นพระแล้ว นอกจากจะไม่อยู่ในศีลแล้วยังก่อคดีอุกฉกรรจ์ขึ้นอีก
คุณสมบัติของผู้บรรพชาอุปสมบท
๑. ต้องรู้เดียงสา คือมีอายุตั้งแต่ ๗ ปีขึ้นไป ส่วนผู้อุปสมบทต้องอายุตั้งแต่ ๒๐ ปีขึ้นไป
๒. ไม่เป็นโรคติดต่อ หรือโรคร้ายแรง เช่น โรคเรื้อน โรคฝีดาษ โรคกลาก หอบหืด ลมบ้าหมูและโรคที่สังคมรังเกียจอื่น ๆ
๓. ไม่เป็นผู้มีอวัยวะบกพร่อง หรือพิการ เช่น มือด้วน แขนด้วน ขาเป๋ ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ เป็นง่อย
๔. ไม่เป็นคนมีอวัยวะไม่สมประกอบ เช่น เตี้ยเกินไป สูงเกินไป คนคอพอก
๕. ไม่เป็นคนทุรพล เช่น แก่เกินไป ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
๖. ไม่เป็นคนมีพันธะ คือ คนที่บิดามารดาไม่อนุญาต คนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ข้าราชการที่ไม่ได้รับอนุญาต
๗. ไม่เป็นคนเคยถูกลงอาญาหลวง เช่น คนถูกสักหมายโทษ คนถูกเฆี่ยนหลังลาย
๘. ไม่เป็นคนประทุษร้ายความสงบ เช่น เป็นโจรผู้ร้ายต้องอาญาแผ่นดิน
บุคคลต้องห้าม ไม่ให้บวชในพระพุทธศาสนาโดยเด็ดขาด (อภัพบุคคล) แบ่งเป็น ๓ ประเภท
ประเภทที่ ๑ บุคคลที่มีเพศบกพร่อง ได้แก่
– ผู้เป็นบัณเฑาะก์ ได้แก่ ก).ชายมีราคะกล้า ประพฤตินอกจารีตทางเสพกามและยั่วยวนชายอื่นให้เป็นเช่นนั้น ข).ชายผู้ถูกตอน ค).กะเทยโดยกำเนิด
– อุภโตพยัญชนก คือ คนสองเพศ ตามอรรถกถานัย หมายถึงเป็นชายก็มี เป็นหญิงก็มี หมายถึงคนผู้มีอาการและจริตตรงกันข้ามต่อภาวะของตน เช่น ชายมีอาการเป็นหญิงเป็นต้นว่า ไม่มีหนวด มีเสียงและจริตกิริยาอย่างผู้หญิง
ประเภทที่ ๒ บุคคลที่ทำผิดต่อพระพุทธศาสนา ได้แก่
– คนฆ่าพระอรหันต์
– คนทำร้ายภิกษุณี
– คนลักเพศ (เถยยสังวาส ผู้ที่ปลอมบวชมาก่อน)
– ภิกษุไปเข้ารีตเดียรถีย์
– ภิกษุต้องปาราชิกละเพศไปแล้ว
– ภิกษุผู้ทำสังฆเภท
– คนทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต
ประเภทที่ ๓ ผู้ทำผิดต่อผู้ให้กำเนิด คือ ฆ่าบิดามารดาของตน
อภัพบุคคลทั้ง ๓ ประเภทเหล่านี้ ถ้ารู้แต่แรกไม่พึงรับอุปสมบทให้ ถ้าอุปสมบทให้แล้วโดยไม่รู้ ภายหลังรู้ขึ้นพึงนาสนะ ให้สึกเสีย
ยังมีคนผู้ถูกห้ามนอกจากอภัพบุคคลอยู่อีก แต่บวชแล้วไม่ต้องนาสนะ เป็นแต่ปรับอาบัติทุกกฎแก่ผู้บวชให้ มีอยู่ ๒ จำพวก คือ ๑. บางพวกห้ามรับบรรพชา ๒. บางพวกห้ามรับอุปสมบท
พวกถูกห้ามรับบรรพชา มี ๘ จำพวก คือ
๑. คนมีโรคติดต่อ ได้แก่ โรค ๕ อย่าง คือ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ (หืดหอบ) และโรคลมบ้าหมู
๒. คนมีอวัยวะบกพร่อง คือ มีมือเท้าขาดเป็นต้น
๓. คนมีอวัยวะไม่สมประกอบ คือ มีมือเป็นแผ่นเป็นต้น
๔. คนพิการ คือ คนตาบอดตาใสเป็นต้น
๕. คนทุรพล คือ คนแก่ง่อนแง่นเป็นต้น
๖. คนมีเกี่ยวข้อง คือ คนอันมารดาบิดามิได้อนุญาตเป็นต้น
๗. คนเคยถูกลงอาญาหลวง มีหมายปรากฏอยู่ คือ คนถูกเฆี่ยนหลังลายเป็นต้น
๘. คนประทุษร้ายความสงบ คือโจรผู้ที่ขึ้นชื่อโด่งดังเป็นต้น
คนที่ถูกห้ามบรรพชาทั้ง ๘ จำพวกนี้ ก็เป็นอันถูกห้ามอุปสมบทด้วย
พวกที่ถูกห้ามรับอุปสมบท มี ๑๐ จำพวก คือ
๑.คนไม่มีอุปัชฌายะ ๒.มีคนอื่นจากภิกษุเป็นอุปัฌายะ ๓.ถือสงฆ์เป็นอุปัชฌายะ ๔.ถือคณะเป็นอุปัชฌายะ ๕.คนไม่มีบาตร ๖.คนไม่มีจีวร ๗.คนไม่มีทั้งบาตรทั้งจีวร ๘.คนยืมบาตรเขามา ๙.คนยืมจีวรเขามา ๑๐.คนยืมทั้งบาตรทั้งจีวรเขามา
พวกที่ถูกห้ามอุปสมบททั้ง ๑๐ นี้ เป็นอันห้ามบรรพชาโดยนัยด้วย
การเตรียมตัวบวชพระ
การเตรียมตัว ก็คือ การจัดการเรื่องส่วนตัวทุกเรื่อง ภารกิจหน้าที่การงานทุกด้านที่เกี่ยวข้องให้สำเร็จลุล่วงไป อย่าให้มีสิ่งใดมาเป็นอุปสรรคขัดขวาง หรือเป็นเหตุให้วิตกกังวลใจในเวลาที่มาฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติที่วัด และต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะบวชได้ตามพระวินัยบัญญัติ
สรุปใจความ ถ้าพูดภาษาแบบเรา ๆ ก็คือ ต้องไม่เป็นข้าราชการ (ถ้าเป็นก็ต้องลาราชการให้เรียบร้อย) ไม่เป็นนักโทษหนีคดี เป็นโจร เป็นผู้ร้าย ไม่เป็นหนี้เป็นสิน ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เช่น เอดส์ (ต้องตรวจเลือดมีใบรับรองแพทย์ยืนยัน) ไม่เป็นตุ๊ด เป็นแต๋ว เป็นกะเทย หรือครึ่งหญิงครึ่งชาย ไม่เป็นพวกวิปริตทางเพศทั้งปวง ไม่เป็นคนพิการแขนขาขาดมาแต่กำเนิด และต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดา หรือถ้าไม่มีแล้ว ก็ต้องมีญาติพี่น้องเป็นผู้รับรอง โดยทำเป็นหนังสือรับรอง (มีแบบฟอร์มที่วัด) พร้อมเตรียมสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ทั้งของตนเอง และของผู้รับรอง เซ็นชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง สำหรับเครื่องอัฏฐบริขารที่ใช้ในการบวช ให้ปรึกษากับทางวัด เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด เพราะบริขารมีหลายแบบ ต้องเป็นแบบที่ใช้ในคณะธรรมยุต ปัจจัยที่ใช้ในการบวชมี ปัจจัยถวายพระอุปัชฌาย์ ๑ รูป พระคู่สวด ๒ รูป และ พระอันดับ ๑๐ รูป รวม ๑๓ รูป จัดถวายตามกำลังศรัทธา เครื่องไทยทาน ๓ ชุด ถวายพระอุปัชฌาย์ ๑ ชุด และ พระคู่สวด ๒ ชุด จัดถวายตามที่เห็นสมควร เตรียมชุดขาวไปใส่ในระหว่างฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติ และฝึกหัดท่องคำขานนาคให้ได้คล่องแคล่ว ถ้าหากไม่สามารถจัดหาบริขารได้เอง หรือไม่มีปัจจัยในการบวช ถ้าหากแน่ใจตัวเองว่า มีความตั้งใจที่จะบวชจริง มีความประพฤติดีจริง สามารถพิสูจน์ให้ครูบาอาจารย์เห็นประจักษ์ได้ในระยะเวลาอันควร ทางวัดจะพิจาณาจัดหาให้
การเตรียมใจ คือ การปลูกศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และมีศรัทธาต่อการบวชอย่างแท้จริง ต้องคิดว่า เราจะตั้งใจบวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และปฏิบัติขัดเกลากิเลส มุ่งตรงต่อพระนิพพาน ตั้งใจปฏิบัติรักษากาย วาจา ใจ ทิฏฐิ ให้เป็นไปตามสายทางแห่งมัชฌิมาปฏิปทา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่บวชแล้วหวังจะไปเที่ยวเร่ร่อนในที่ต่าง ๆ โดยที่ยังไม่มีความรอบรู้ในพระธรรมวินัยเพียงพอที่จะเอาตัวรอดจากอาบัติ ซึ่งในทางพระวินัย กุลบุตรเมื่อบวชแล้วต้องถือนิสัยพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ อย่างน้อย ๕ พรรษา จึงจะพ้นนิสัย สามารถไปอยู่ตามลำพังได้ แม้พ้น ๕ พรรษาไปแล้ว ยังไม่มีความรู้พอจะเอาตัวรอดได้ ก็ยังต้องถือนิสัยต่อไป ความรักษา กาย วาจา ให้บริสุทธิ์ ไม่ประพฤติล่วงกิเลสอย่างหยาบ ที่จะพึงกระทำด้วยกายวาจา ใจ ชื่อว่า ศีล ความรักษาใจให้บริสุทธิ์ คือ เพ่งใจไว้ในอารมณ์อันเดียว ไม่ให้เกาะเกี่ยวเศร้าหมองด้วยนิวรณ์ทั้ง ๕ ชื่อว่า สมาธิ ควาทำทิฎฐิความเห็นให้ถูกต้อง ตามความเป็นจริง ไม่เห็นผิดไปจากคลองธรรม ชื่อว่า ปัญญา
เราจะทำตัวให้เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย ไม่ถือรั้นด้วยทิฎฐิมานะ ไม่ว่าจะมีความรู้สูงส่งเพียงไหน จะมาจากตระกูลมั่งคั่งเพียงใด ก็จะทำตัวเป็นประดุจผ้าเช็ดเท้า ที่รองรับฝ่าเท้าของคนทุกเพศทุกชั้นทุกวัย โดยไม่เลือกที่รักที่ชัง ต้องมีความอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากทุกชนิด จะไม่เห็นแก่การกินอยู่หลับนอนสุขสบาย จะพอใจใช้สอยสิ่งของตามมีตามได้ เท่าที่ครูบาอาจารย์จะเห็นสมควรจัดหาให้ นี่คือข้อปฏิบัติทางใจขั้นพื้นฐานสำหรับผู้มุ่งหวังจะบวชปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น
ที่มา: คู่มือบวชโดยนักวิชาการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ www.doisaengdham.org
หมายเหตุ : สำหรับโครงการบวชวัดป่า ผู้สมัครบวชไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทางโครงการจะจัดเตรียมอัฐบริขารและของทุกอย่างมาให้