คำขอนิสัย
คำขอนิสัยต่อพระอาจารย์
นิสัย แปลว่า
๑. ที่พึ่ง, ที่อาศัย เช่น ขอนิสัยในการอุปสมบท (คือกล่าวคำขอร้องต่ออุปัชฌาย์ในพิธีอุปสมบท ขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยของตน ทำหน้าที่ปกครองสั่งสอนให้การศึกษาอบรมต่อไป), อาจารย์ผู้ให้นิสัย (อาจารย์ผู้รับที่จะทำหน้าที่เป็นที่พึ่ง ที่อาศัยปกครองแนะนำในการศึกษาอบรม)
๒. ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต ๔ อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช
๓. ความประพฤติที่เคยชิน เช่น ทำจนเป็นนิสัย
ภิกษุผู้พึ่งบวช ได้ชื่อว่า สัทธิวิหาริก แปลว่า ผู้อยู่ด้วย
ภิกษุผู้อาศัยอาจารย์ ได้ชื่อว่า อันเตวาสิก แปลว่า ผู้อยู่ในสำนัก ฯ
ภิกษุผู้ให้สัทธิวิหาริกพึ่ง ได้ชื่อว่าเป็น อุปัชฌายะ แปลว่า ผู้ฝึกสอนหรือผู้ดูแล
ภิกษุผู้ให้อันเตวาสิกพึ่ง ได้ชื่อว่า อาจารย์ แปลว่า ผู้ฝึกมรรยาท
ภิกษุมีพรรษาหย่อน ๕ พรรษา ถือว่าเป็นพระนวกะบวชใหม่ต้องถือภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นอุปัชฌาย์ และอาศัยภิกษุรูปนั้นอยู่เพื่อรับโอวาท ในกรณีที่ไม่ได้อยู่กับอุปัชฌาย์ ต้องขอนิสัยจากพระอาจารย์ที่ตนอาศัยด้วย
ผู้ขอนิสัยต้องห่มจีวรเฉวียงบ่า เข้าไปคุกเข่าใกล้ กราบ ๓ ครั้ง ว่า
“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”
“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”
“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”
ว่า
“อาจะริโย เม ภันเต โหหิ, อายัส๎มะโต นิสสายะ วัจฉามิ”
“อาจะริโย เม ภันเต โหหิ, อายัส๎มะโต นิสสายะ วัจฉามิ”
“อาจะริโย เม ภันเต โหหิ, อายัส๎มะโต นิสสายะ วัจฉามิ”
พระอาจารย์ท่านจะพูดว่า “โอปายิกัง” ผู้ขอรับว่า “สาธุ ภันเต”
พระอาจารย์ท่านจะพูดว่า “ปะฏิรูปัง” ผู้ขอรับว่า “สาธุ ภันเต”
พระอาจารย์ท่านจะพูดว่า “ปาสาทิเกนะ สัมปาเทหิ” ผู้ขอรับว่า “สาธุ ภันเต”
ผู้ขอนิสัยพึงกล่าวรับเป็นธุระให้ท่านว่า
“อัชชะตัคเคทานิ เถโร, มัยหัง ภาโร, อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร”
“อัชชะตัคเคทานิ เถโร, มัยหัง ภาโร, อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร”
“อัชชะตัคเคทานิ เถโร, มัยหัง ภาโร, อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร”
[ ในกรณีที่อาศัยอยู่กับพระอุปัชฌาย์ให้ขอนิสัยจากพระอุปัชฌาย์ ดังนี้ “อุปัชฌาโย เม ภันเต โหหิ” (ว่า ๓ ครั้ง) นอกนั้นเหมือนกันกับการขอนิสัยพระอาจารย์ ]
ภิกษุมีพรรษาหย่อน ๕ พรรษาเป็นพระนวกะอยู่ แม้เป็นผู้ทรงธรรมวินัยก็ควรจะต้องขอนิสัยจากพระอุปัชฌาย์หรือพระอาจารย์ ภิกษุเดินทาง ป่วยไข้หรือเข้าป่าเพื่อเจริญสมณธรรมในที่ใด หาท่านผู้ให้นิสัยไม่ได้ หรือมีเหตุขัดข้องไปอยู่ในที่อื่นไม่ได้จะอยู่ในที่นั้นด้วยผูกใจว่า เมื่อใดมีท่านผู้ให้นิสัยได้มาอยู่ จักถือนิสัยในท่านนั้นก็ควร
ภิกษุผู้มีพรรษาได้ ๕ แล้ว แต่ยังไม่ถึง ๑๐ มีองค์ครบสมบัติในการจะอยู่ตามลำพังโดยไม่ต้องขอนิสัยได้ แต่หากยังไม่มีความรู้ความเหมาะสมในการรักษาตน ก็ต้องถือนิสัย
นิสัยมุตตกะ ภิกษุผู้พ้นการถือนิสัยหมายถึงภิกษุมีพรรษาพ้น ๕ แล้ว มีความรู้ธรรมวินัยพอรักษาตัวได้แล้ว ไม่ต้องถือนิสัยในอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์ต่อไป เรียกง่ายว่า นิสัยมุตก์